MAIN MENU
หน้าแรก
ในหลวงของเรา
สาระความรู้เกี่ยวกับดนตรี
ดนตรีสากล
ดนตรีไทย
ดนตรีพื้นบ้าน
ดนตรีพื้นบ้านอีสาน
ผลงานที่รับผิดชอบและภาคภูมิใจ
กิจกรรมวงดนตรีสากล
กิจกรรมวงดนตรีพื้นบ้าน
กิจกรรมวงดุริยางค์
กิจกรรมแข่งขันทางวิชาการ
VDO & Multimedia
VDO เฉลิมพระเกียรติ
VDO วงดนตรีสากล
VDO น่าสนใจ
กฎหมายที่จำเป็นต้องรู้
บทความน่าสนใจ
เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา
สอนลูกให้เป็นคนดี
เคล็ด (ไม่) ลับ
Link น่าสนใจ
IP ที่ท่านใช้ในขณะนี้
สถิติผู้เข้าชม
 

กลับหน้าสารบัญดนตรีไทย

เครื่องดนตรีไทย

 

  

เครื่องตี

•  กลองแขก

          กลองแขก เป็น เครื่องดนตรี ประเภท เครื่องตี ที่มีรูปร่างยาวเป็นรูปทรงกระบอก
ขึ้นหนังสองข้างด้วยหนังลูกวัวหรือหนังแพะ. หน้าใหญ่ กว้างประมาณ 20 cm เรียกว่า หน้ารุ่ย หรือ "หน้ามัด"
ส่วนหน้าเล็กกว้างประมาณ 15 cm เรียกว่า หน้าต่าน หรือ"หน้าตาด" ตัวกลองหรือหุ่นกลองสามารถทำขึ้นได้
จากไม้หลายชนิดแต่โดยมากจะนิยมใช้ไม้เนื้อแข็งมาทำเป็นหุ่นกลอง เช่น ไม้ชิงชัน ไม้มะริด ไม้พยุง
กระพี้เขาควาย ขนุน สะเดา มะค่า มะพร้าว ตาล ก้ามปู เป็นต้น ขอบกลองทำมาจากหวายผ่าซีก
โยงเรียงเป็นขอบกลองแล้วม้วนด้วยหนังจะได้ขอบกลองพร้อมกับหน้ากลอง และถูกขึงให้ตึงด้วยหนังเส้นเล็ก
เรียกว่าหนังเรียดเพื่อใช้ในการเร่งเสียงให้หน้ากลองแต่ละหน้าได้เสียงที่เหมาะสมตามความพอใจ
กลองแขกสำรับหนึ่งมี 2 ลูก ลูกเสียงสูงเรียก ตัวผู้ ลูกเสียงต่ำเรียก ตัวเมีย ตีด้วยฝ่ามือทั้งสองข้างให้สอดสลับกันทั้งสองลูก

ลักษณะเสียง
  • กลองแขกตัวผู้ มีเสียงที่สูงกว่ากลองแขกตัวเมียโดย เสียง "ติง" ในหน้ามัด และเสียง โจ๊ะ ในหน้าตาด
  • กลองแขกตัวเมีย มีเสียงที่ต่ำกว่ากลองแขกตัวผู้ โดย เสียง ทั่ม ในหน้ามัด และเสียง จ๊ะ ในหน้าตาด
วิธีการบรรเลง

          การบรรเลงนั้นจะใช้มือตีไปทั้งสองหน้าตามแต่จังหวะหรือหน้าทับที่กำนดไว้ ในหน้าเล็กหรือหน้าตาด
จะใช้นิ้วชี้หรือนิ้วนางในการตี เพื่อให้เกิดเสียงที่เล็กแหลม ในหน้ามัดหรือหน้าใหญ่ จะใช้ฝ่ามือตีลงไป
เพื่อให้เกิดเสียงที่หนักและแน่น ซึ่งมีวิธีการบรรเลงที่ละเอียดอ่อนลงไปอีกตามแต่กลวิธีที่ครูอาจารย์แต่ละท่าน
จะชี้แนะแนวทางการปฏิบัติ


ภาพกลองแขก

•  กลองสะบัดชัย

          กลองสะบัดชัย เป็นกลองที่มีมานานแล้วนับหลายศตวรรษ ในสมัยก่อนใช้ ตียามออกศึก สงคราม
เพื่อเป็นสิริมงคล และเป็น ขวัญกำลังใจให้แก่เหล่าทหารหาญในการต่อ สู้ให้ได้ชัยชนะ ทำนองที่ใช้ในการตี
กลองสะบัดชัยโบราณมี 3 ทำนอง คือ ชัยเภรี, ชัย ดิถี และชนะมาร  การตีกลองสะบัดชัยเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้าน
ล้านนา อย่างหนึ่ง ซึ่งมักจะพบเห็นในขบวนแห่หรืองานแสดงศิลปะพื้นบ้านในระยะหลังโดยทั่วไป
ลีลาในการตีมีลักษณะโลดโผนเร้าใจมีการใช้อวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่นศอก เข่า ศีรษะ
ประกอบในการตีด้วย ทำให้การแสดงการตีกลองสะบัดชัยเป็นที่ประทับใจของผู้ที่ได้ชม
จนเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

รูปร่างลักษณะกลองสะบัดชัย

          รูปร่างลักษณะแต่เดิมนั้น เท่าที่พบมีแห่งเดียว คือกลองสะบัดชัยจำลองทำด้วยสำริด ขุดพบที่ วัดเจดีย์สูง
ตำบลบ้านหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ กลองสะบัดชัยดังกล่าวประกอบด้วยขนาดกลองสองหน้าเล็ก 1 ลูก
กลองสองหน้าขนาดใหญ่ 1 ลูก ฆ้องขนาดหน้ากว้างพอ ๆ กับกลองใหญ่อีก 1 ใบ พร้อมไม้ตีอีก 3 อัน
หน้ากลองตรึงด้วยหมุดตัดเรียบมีคานหามทั้งกลองและฆ้องรวมกัน
           ส่วนที่พบโดยทั่วไป คือกลองสะบัดชัยที่แขวนอยู่ตามหอกลองของวัดต่าง ๆ ในเขตล้านนา
ซึ่งมักจะมีลักษณะเหมือนกัน คือมีกลองสองหน้าขนาดใหญ่ 1 ลูก หน้ากว้างประมาณ 30 – 35 นิ้ว ยาวประมาณ 45 นิ้ว
หน้ากลองหุ้มด้วยหนังตรึงด้วยหมุด ( ล้านนาเรียก ‘' แซว่ ) โดยที่หมุดไม่ได้ตัดเรียบคงปล่อยให้ยาวออกมาโดยรอบ
ข้าง ๆ กลองใหญ่ มีกลองขนาดเล็ก 2 - 3 ลูก เรียกว่า ลูกตุบ ‘' กลองลูกตุบทั่วไปมักมีสองหน้าบางแห่งมีหน้าเดียว
ขนาดหน้ากว้างประมาณ 8 – 10 นิ้ว ความยาวประมาณ 12 – 15 นิ้ว หน้ากลองหุ้มด้วยหนังตรึงด้วยหมุดเช่นกัน
          
ดังที่ได้กล่าวแล้ว กลองสะบัดชัยในปัจจุบันเป็นกลองที่ย่อส่วนมาจากวัด เมื่อย่อขนาดให้สั้นลง
โดยหน้ากว้างยังคงใกล้เคียงกับของเดิม ลูกตุบก็ยังคงอยู่ ลักษณะการหุ้มหน้ากลองเหมือนของเดิมทุกประการ
ตัวกลองติดคานหามสำหรับคนสองคนหามได้ ต่อมาไม่นิยมใช้ลูกตุบ จึงตัดออกเหลือแต่กลองใหญ่
ลักษณะการหุ้มเปลี่ยนจากการตรึงด้วยหมุดมาใช้สานเร่งเสียง เพราะสะดวกต่อการตึงหน้ากลองให้ตึงหรือหย่อน
เพื่อให้ได้เสียงตามที่ต้องการ ข้างกลองประดับด้วยไม้แกะสลักซึ่งนิยมแกะเป็นรูปนาค
และมีผ้าหุ้มตัวกลองให้ดูสวยงามอีกด้วย

บทบาทของกลองสะบัดชัย

          อาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันศิลปะการตีกลกองสะบัดชัย เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ได้นำชื่อเสียงทางด้านวัฒนธรรมพื้นสู่ล้านนา
และบทบาทของกลองสะบัดชัยจึงอยู่ในฐานะการแสดงในงานวัฒนธรรมต่าง ๆเช่น งานขันโตก
งานพิธีต้อนรับแขกเมืองขบวนแห่ ฯลฯ แต่โอกาสในการใช้กลองสะบัดชัยแต่เดิมมาจนถึงปัจจุบันยังมีอีกหลายประการ
ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในวรรณกรรมต่าง ๆมากมาย สรุปได้ดังนี้

ใช้ตีบอกสัญญาณ

การใช้กลองสะบัดชัยตีบอกสัญญาณนั้นมีหลายลักษณะ ดังนี้

         สัญญาณโจมตีข้าศึก

          ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดพระงาม ผูกที่ 2 กล่าวถึงสมัยพระญามังราย ตอนขุนครามรบพระญาเบิก
ที่เมืองเขลางค์ ขุนครามแต่งกลให้ขุนเมืองเชริงเป็นปีกขวา ขุนเมืองฝางเป็นปีกซ้ายยกพลเข้าโจมตี กล่าวว่า
‘' เจ้าขุนครามแต่งกลเส็กอันนี้ แล้วก็หื้อสัญญาริพลเคาะคล้องโย้ง ( ฆ้อง ) ตีกลองชัย ยกสกุลโยธาเข้าชูชนพระญาเบิก
ยู้ขึ้นมาวันนั้นแล กลองชัยในที่นี้ คือกลองสะบัดชัยนั่นเอง เพราะในบริบทที่ใกล้เคียงกันนี้มีคำว่า ‘' สะบัดชัย ตีคู่กับฆ้องอยู่ด้วย
กล่าวคือในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ พระยาลุ่มฟ้าห้อยกพลเข้าตีเชียงแสนชาวเมืองแต่งกลศึกโดยขุดหลุมพรางฝังหลาว
แล้วตีปีกทัพล้อมไล่ทัพห้อให้ถูกกล

          ‘' ยามแตรจักใกล้เที่ยงวันหร้อ ( ฮ่อ ) ยกพลเส็กเข้ามาชาวเราจิ่งเคาะคล้อง ( ฆ้อง ) ตีสะบัดชัย
ยกพลเส็กกวมปีกกากุมติดไว้ และในสมัยพระญาติโลกราช ตอนหมื่นด้งนครรบชาวใต้ ( สองแคว )
ได้ให้พลโยธาซุ่มอยู่จนข้าศึกตายใจแล้ว กล่าวว่า ‘' หมื่นด้งหื้อเคาะคล้องโย้ง ตีสะบัดชัย เป่าพุลุ ลาภา
ปลี่หร้อยอพลเส็กเข้า ฝูงอยู่คุ่มไม้ก็สว่ายเดงช้างตีจองวองยู้เข้าไพ โห่ร้องมี่นันมากนัก

                   สัญญาณบอกข่าวในชุมชน

          วรรณกรรมไทเขินเรื่อง ‘' เจ้าบุญหลง ผูกที่ 5 ตอนชาวเมืองปัญจรนคาผูกผุสรถเพื่อเสี่ยงเอาพญาเจ้าเมือง
               อามาตย์ได้สั่งให้เสนาไปป่าวประกาศ ‘' อมาตยแก้วพรองเมือง หื้อเสนาเนืองเอิ้นป่าว ค้อนฟาดหน้ากลองไชย
เสียงดังไปผับจอด รู้รอดเสี้ยงปัญจรนคร ‘' และผูกที่ 7 ตอนเจ้าพรหมปันจัดเตรียมทัพไปเยี่ยมอนุชาและมารดา
ได้สั่งให้เสนาไปร้องป่าวให้ชาวเมืองเตรียมขบวนาร่วมด้วย ‘' เจ้าก็ร้องเสนามาสู่ แทบใกล้กู่ตนคำปลงอาชญาทำโดยรีบ
ถีบคนใช้หนังสือ กลองสะบัดชัยตีป่าวกล่าวไพร่ฟ้ามามวล

                    เป็นมหรสพ

           วรรณกรรมเรื่อง อุสสาบารส ผูกที่ 1 ตอนพระยากาลีพรหมราชให้นำมเหสีสุราเทวีไปเที่ยวชมสวนอุทยาน
และในสวนอุทยานก็มีการเล่นมหรสพ ‘' มหาชนา อันว่าคนทังหลายก็เหล้นมโหรสพหลายประการต่าง ๆ
ลางพร่องก็ตีกลองสะบัดชัยตื่นเต้น ลางพร่องก็ตีพาทย์ค้องการะสับ ลางพร่องเยียะหลายฉบับ ฟ้อนตบตีนมือ
ลางพร่องปักกะดิกเอามือตางตีน

           ในวรรณกรรมประเภทคร่าวซอเรื่อง หงส์หิน ที่แต่งโดยเจ้าสุริยวงส์ ตอนมีงานสมโภชเจ้าหงส์หินได้เป็นเจ้าเมือง
กล่าวถึงการเล่นมหรสพต่าง ๆ ซึ่งมีกลองสะบัดชัยด้วย ว่า

           ‘' เจ็ดแบกเมี้ยน บ่ถูกตัวเขา ดาบลาเอา ท่ารบออกเหล้นกลองสะบัดชัย ลูกตุบไล่เต้น ขบวนเชิงต่อยุทธ์
ชนผัดหลัง แล้ววางอาวุธ พิฆาตข้าฟันลอง และแม้ในงานศพของกษัตริย์ หรือเจ้าเมืองก็มีกลองสะบัดชัยเป็นมหรสพ
เช่น ที่ปรากฏในวรรณกรรมคร่าวซอเรื่องก่ำกาดำ ตอนงานศพของพระยาพาราณสี
‘' เชิญพระศพมา ฐานตั้งไว้ กลางข่วงกว้างเมรุไชย ฟังดูกลองค้อง พิณพาทย์เสียงใส เภรีบัดไชย สรรญเสริญเจ้า

         เป็นเครื่องประโคมฉลองชัยชนะ

            วรรณกรรมเรื่องอุสสาบารส ผูกที่12 ตอนพระขิตราชรบศึกชนะก็มีการตีกลองสะบัดชัยเฉลิมฉลอง
‘' ส่วนว่าริพลโยธาพระขิตราชก็ตี กลองสะบัดชัย เหล้นม่วนโห่ร้องอุกขลุกมี่นันนัก เสียงสนั่นก้องใต้ฟ้าเหนือดินมากนัก
ปุนกระสันใจเมืองพานมากนัก หากได้แล้วก็ตีค้อง กลองสะบัดชัย สงวนม่วนเหล้น กวัดแก่วงดาบฟ้อนไปมา

           เครื่องประโคมเพื่อความสนุกสนาน

               ในวรรรณกรรมประเภทโคลงเรื่องอุสสาบารส มีการตีกลองสะบัดชัย ดื่มสุราในเหล่าพลโยธายามว่างจากการรบ
ดังปรากฏในโคลงบทที่ 130 ว่า

          พลท้าวชมชื่นเหล้น สะบัดชัย อยู่แล
          มัวม่วนกินสนุกใจ โห่เหล้า
          ทัพหลวงแห่งพระขิต ชมโชค พระเอย
          กลองอุ่นเมืองท้าวก้อง ติ่งแตร

            บทบาทและหน้าที่ของกลองสะบัดชัยจากหลักฐานทางวรรณกรรมดังกล่าวแสดงว่าแต่เดิมนั้น
เกี่ยวพันกับฝ่ายอาณาจักรกษัตริย์หรือเจ้าเมืองและกองทัพทั้งนั้นต่อมาเมื่อสถาบันกษัตริย์เจ้าเมืองของล้านนา
ถูกลดอำนาจจนสูญไปในที่สุด กลองสะบัดชัยซึ่งถือได้ว่าเป็นของสูง จึงเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ไปอยู่กับ ศาสนจักร ซึ่งมีบทบาทคู่กับ
‘' อาณาจักร มาตลอดศาสนสถานของพุทธศาสนาคือวัด ฉะนั้นวัดจึงน่าจะเป็นสถานที่รองรับกลองสะบัดชัยมาอีกทอดหนึ่ง
และเมื่อเข้าไปอยู่ในวัดหน้าที่ใหม่ที่เพิ่มขึ้น คือตีเป็น ‘' พุทธบูชา
จนได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า กลองปูชา ( อ่าน ก๋องปู๋จา )
เวลาตีก็บอกว่า ตีกลองปูชา กระนั้นก็ตามหลายแห่งยังพูดว่า ตีกลองสะบัดชัย อยู่ดี

           อย่างไรก็ตามแม้จะได้หน้าที่ที่ใหม่แล้ว หน้าที่เดิมที่ยังคงอยู่ก็คือเป็น สัญญาณ เพราะวัดเป็นศูนย์รวมของชุมชน
ข่าวสารต่าง ๆ จึงมักออกจากวัด ปัจจุบันจึงได้ยินเสียงกลองจากวัดอยู่บ้าง ( เฉพาะวัดที่ยังไม่มีเครื่องเสียงตามสาย )
เพื่อเป็นสัญญาณเรียกประชุมสัญญาณบอกเหตุฉุกเฉิน สัญญาณบอกวันโกนวันพระ
และหน้าที่รองลงมาที่เกือบจะสูญหายแล้วาคือเป็น
‘' มหรสพ ซึ่งเหลือเฉพาะในงานบุญคือ บุญสลากภัตต์ที่เรียกว่า ทานกวยสลาก ( อ่าน ‘' ตานก๋วยสะหลาก )

หมายเหตุ

           ทรรศนะที่ว่ากลองสะบัดชัยเปลี่ยนที่อยู่ใหม่จากอาณาจักรสู่ศาสนจักรเป็นเพียงความเข้าใจ
ที่ได้จากการวิเคราะห์จากหลักฐานที่ยกมาเท่านั้น ผู้อ่านอาจไม่เห็นด้วยก็ได้ เพราะวัดมีหอกกลองมาช้านานแล้ว

การนำกลองสะบัดชัยเข้าสู่ขบวนแห่

บทบาทและหน้าที่เดิมของกลองสะบัดชัยอย่างหนึ่งคือเป็นมหรสพ ซึ่งเป็นมหรสพในงานระดับกษัตริย์หรือเจ้าเมือง
( วัง ) ต่อมาเป็นมหรสพในงานบุญคือระดับศาสนา ( วัด )
ก็ยังหาหลักฐานไม่พบว่ามีการนำเอาเข้าขบวนแห่ด้วยหรือไม่
เพราะกลองสะบัดชัยหรือกลองบูชาที่อยู่ตามวัดนั้นมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก ยากแก่การเคลื่อนย้าย
ภายหลังน่าจะมีผู้คิดว่าควรนำไปแห่เข้าขบวนด้วย
จึงจำลองขนาดให้พอหามสองคนได้โดยย่อขนาดให้สั้นลงประมาณ 1 ใน 3 ส่วน


ภาพกลองสะบัดชัย

 

•  กลองสองหน้า

         กลองสองหน้า สันนิษฐานว่าเริ่มนำมาใชในสมัย รัชกาลที่ 2 มีลักษณะคล้าย ลูกเปิงมาง แต่ใหญ่กว่า
หน้ากลองด้านกว้างเส้นผ่าศูนย์กลาง 21-24 เซนติเมตร ด้านเล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง 20-22 เซนติเมตร
ตัวกลองยาว 55-58 เซนติเมตร ใช้ใน วงปี่พาทย์เสภา และใช้ตีประกอบจังหวะการเดี่ยวเครื่องดนตรีต่างๆด้วย


ภาพกลองสองหน้า

 

•  กลองทัด

              กลองทัด เป็นกลองสองหน้าขนาดใหญ่ ขึ้นหน้าทั้งสองข้างด้วยหนัง วัว หรือหนัง ควาย ตรึงด้วยหมุด
หุ่นกลองทำจากไม้เนื้อแข็ง กลึงคว้านข้างในจนเป็นโพรง ป่องตรงกลางนิดหน่อยหมุดที่ตรึง หนังเรียกว่า แส้ ทำด้วยไม้หรืองาหรือกระดูกสัตว์ตรงกลางหุ่น กลองมีห่วงสำหรับแขวน เรียกว่า หูระวิง
กลองทัดมีขนาดหน้ากว้างเท่ากันทั้งสองข้าง วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ 46 ซม
ตัวกลองยาวประมาณ 41 ซม กลองทัดมี 2 ลูก ลูกที่มีเสียงสูง ดัง ตุม เรียกว่า ตัวผู้ และ
ลูกที่มีเสียงต่ำตีดัง ต้อม เรียกว่า ตัวเมีย ใช้ไม้ตี 1 คู่ มีขนาดยาวประมาณ 54 ซม

กลองทัดใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ โดยเล่นคู่กับ ตะโพน


ภาพกลองทัด

•  กลองมลายู

          กลองมลายู มีลักษณะเดียวกับ กลองแขก แต่สั้นและอ้วนกว่า หน้าหนึ่งใหญ่ อีกหน้าหนึ่งเล็กขึ้นหนังสองหน้า
เร่งให้ตึงด้วยหนังรูดให้แน่น สายโยงเร่งเสียงทำด้วยหนัง หน้าใหญ่อยู่ทางขวาตีด้วยไม้งอ หน้าเล็กตีด้วยฝ่ามือ
ใช้บรรเลงคู่เหมือนกลองแขก ลูกเสียงสูงเรียกว่า"ตัวผู้" ลูกเสียงต่ำเรียกว่า"ตัวเมีย" ใช้บรรเลงใน วงปี่พาทย์นางหงส์
และ วงบัวลอย


ภาพกลองมะลายู

•  กลองยาว

           กลองยาว เป็น เครื่องดนตรี สำหรับตีด้วยมือ ตัวกลองทำด้วยไม้ มีลักษณะกลมกลวง ขึงด้วยหนังมีหลายชนิด
ถ้าทำด้วยหนังหน้าเดียว มีรูปยาวมากใช้สะพายในเวลาตี เรียกว่ากลองยาวหรือ เถิดเทิง

ประวัติกลองยาว

            เชื่อกันว่ากลองยาวได้แบบอย่างมาจาก พม่า ในสมัย กรุงธนบุรี หรือต้น กรุงรัตนโกสินทร์
สมัยที่ไทยกับพม่ากำลังทำสงครามกัน เวลาพักรบ พวกทหารพม่าก็เล่น "กลองยาว" กันสนุกสนาน พวกชาวไทย
ได้เห็นก็จำแบบอย่างมาเล่นบ้าง แต่บางท่านก็เล่าว่า กลองยาวของพม่าแบบนี้ มีชาวพม่าพวกหนึ่งนำเข้ามาเล่น
ในงานที่มีกระบวนแห่ เช่น บวชนาค ทอดกฐิน เป็นต้น และนิยมเล่นกันเป็นที่รื่นเริง สนุกสนานในเทศกาล สงกรานต์
และเล่นกันแพร่หลายไปแทบทุกหัวบ้านหัวเมือง วงหนึ่งๆ จะใช้กลองยาวหลายลูกก็ได้ เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงร่วม
มี ฉิ่ง , ฉาบเล็ก , กรับ , โหม่ง เรียกการเล่นชนิดนี้ว่า "เถิดเทิง" หรือ "เทิงกลองยาว" ที่เรียกเช่นนี้เข้าใจว่า
เรียกตามเสียงกลองที่ตีและตามรูปลักษณะกลองยาว


ภาพกลองยาว

•  กลองมโหระทึก

          กลองมโหระทึก หรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่า "ฆ้องกบ" มีลวดลายด้านบนเป็นรูปกบซึ่งมีทั้งหมด 4 ตัว หมายถึง ฝน
ซึ่งหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารซึ่งคนใน ประเทศไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา และตอนใต้ของ จีน
หรือเรียกว่า อุษาคเนย์ ต่างมีชีวิตทำนาปลูกข้าว การมีฝนฟ้าบริบูรณ์จึงหมายถึงความมั่นคงแห่งอาณาจักร
นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าคนโบราณสร้างกลองมโหระทึกเพื่อใช้ในพิธีขอฝนหรือพิธีไสยศาสตร์ หรือแสดงฐานะอันมั่นคงสูงส่ง
หรือใช้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย หรือใช้ในสงคราม ลวดลายอันสวยงามบนผิวกลอง ได้แก่
ลายรัศมีดาวหรืออาทิตย์ 12 แฉก ลายคนสวมเครื่องประดับศีรษะด้วยขนนก ลายนกกระสา ลายซี่หวี
และกลีบดอกไม้ การหล่อภาชนะสำริดให้มีลวดลายสวยงามนั้นต้องผ่านการหล่อแล้วตกแต่งหลายครั้ง คือ
ครั้งแรกหล่อเพื่อขึ้นรูปเป็นกลองหลังจากนั้นหล่อลายประดับอีกหลายครั้งทั้งด้านบน
และด้านข้างช่างผู้หล่อสำริดจึงต้องชำนาญมาก


ภาพกลองมโหระทึก

 

•  กลองมังคละ

            กลองมังคละ เป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านในเขตภาคเหนือตอนล่าง เป็นที่นิยมกันมานาน มีหลักฐานว่า
ดนตรีมังคละเล่นกันมานานนับแต่ครั้ง กรุงสุโขทัย มีหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 1 บันทึกไว้ว่า
"ท้าวหัวราน คำบง คำกลอง ด้วยเสียงพาทย์เสียงพิณ เลื่อนขับ" มีผู้ให้คำอธิบายและตีความว่า คำบง คำกลอง
เป็นคำโบราณที่มีใช้ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยแปลว่า การประโคม ดังนั้นคำว่า คำบง คำกลอง
จึงหมายถึงการตีกลองหรือประโคมกลองที่ขึงด้วยหนัง ซึ่งหมายถึงกลองมังคละ
การละเล่นพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก
โดยลักษณะกลองมังคละนี้มีความเหมือนกับ เครื่องดนตรี "กาหลอ" ดนตรีทางพื้นถิ่น ภาคใต้
และวง "มงคลเภรี" ของ ศรีลังกา สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ บันทึกไว้ในคราวตรวจการ
ที่หัวเมือง พิษณุโลก เมื่อ พ.ศ.2444 ได้ยินดนตรีดังกล่าวบริเวณวัดสะกัดน้ำมันจึงได้เรียกมาแสดงให้ดู
ได้ให้ทัศนะต่อดนตรี "มังคละ" ว่า "เครื่องมังคละนี้เป็นเครื่องเบญจดุริยางค์แท้"

ความเป็นมา

          มังคละ เป็นกลองชนิดหนึ่ง ขึงด้วยหนัง มีรูปกลมรี ใช้ตีด้วยไม้ คำว่า “มังคละ” หมายถึง มงคล
หรืองานที่เจริญก้าวหน้า มังคละจึงเป็นดนตรีที่เป็นมงคล การเล่นมังคละมีมาช้านาน
ตั้งแต่สมัยโบราณกาลครั้งกรุงสุโขทัย มีหลักฐานในหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ว่า “เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย
มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนโนน มีบริพารกฐิน โดยท่านแล้ปี แล้ญิบล้าน
ไปสูดญัติกฐินถึงอรัญญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียงวังเท้าหัวลานดํบงคํกลองด้วยเสียงพาดเสียงพิน เลื่อนขับ
ใครจักมักเล่นเล่น ใครจักมักหัวหัว ใครจักมักเลื่อนเลือน…………..”
ต่อมาได้มีการละเล่นมังคละที่เป็นการละเล่นที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของท้องถิ่นแห่งวัฒนธรรมข้าว
มีการเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาวด้วยลีลาท่ารำต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน

ดนตรีกับศาสนา

  • ในรัชสมัย พญาลิไท (ครองราชย์ พ.ศ. 1897 - พ.ศ. 1919 ) ได้นำ พระศาสนา จาก ลังกา เข้ามา
    โดยเฉพาะองค์ พระมหาสวามี สังฆราช และพระผู้ใหญ่อีกหลายรูปก็มีการไปมาหาสู่กันระหว่าง สุโขทัย
    กับ ลังกา การที่ พระมหาสวามีสังฆราช เสด็จมา จารึกระบุว่ามาเป็นขบวนเสด็จ
    ซึ่งสมัยโบราณจะต้องมีกองทหารเกียรติยศและจะต้องมีปีมีกลองตามฐานันดร จึงพอเชื่อว่า
    พระมหาสวามี สังฆราช น่าจะเสด็จมาพร้อมกับกองเกียรติยศทหาร ลังกา
    ประโคมมาดั่งสนั่นหวั่นไหวตลอดทาง หรือแม้กระทั่งพระมหาสามีศรีศรัทธา ฯ (หลัก ๑ กับหลัก ๑๑)
    ไปทำบุญในเกาะ ลังกา ขากลับมาสยามอาจจะได้รับพระราชทานจากพระเจ้า ลังกา
    ให้มีกองเกียรติยศและดนตรีประดับพระคุณ
    ดังนั้นหากนิยามตามทัศนะดังกล่าวก็ย่อมหมายความว่าดนตรี มังคละมีต้นเค้ามาจากประเทศศรีลังกา
    เป็นความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับดนตรี นัยหนึ่งเพื่อเป็นเกียรติยศ และการขับกล่อมประโคม
    เมื่อพัฒนการทางดนตรีมาอยู่ในสุโขทัย จึงเป็นการผสมผสานเข้ามาร่วมในพิธีกรรมทางศาสนา
    รวมทั้งรักษาสืบทอดมาจนกระทั่งจุบัน

เพลงที่ใช้บรรเลง

          เพลงที่ใช้บรรเลง มีชื่อดังนี้ ไม้หนึ่ง, ไม้สอง, ไม้สาม, ไม้สี่, บัวลบ, ไทรย้อย, ตกปลักเล็ก, ตกปลักใหญ่,
ถอยหลังลงคลอง, พญาโศก, ลมพัดชายเขา, ย่ำค่ำ, จูงนางเข้าห้อง, กบเข่นเขี้ยว, แม่หม้ายกระทบแป้ง,
สาวน้อยปะแป้ง, อีกาจับหลัก, เวียนเทียน, พระฉันภัตตาหาร, และเพลงนางหงส์ ที่ใช้สำหรับแห่ศพ

ส่วนข้อมูลที่เรียบรวมโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก
             ให้ข้อมูลเพลงที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาอาทิ เพลงไม้สามกลับ เพลงไม้สามถอยหลัง เพลงไม้สี่
เพลงกระทิงเดินดง เพลงกระทิงนอนปลัก เพลงกระทิงกินโป่ง เพลงเก้งตกปลัก เพลงข้ามรับ – ข้ามส่ง

          เพลงข้าวต้มบูด เพลงคางคกเข็ดเขี้ยว เพลงคลื่นกระทบฝั่ง เพลงคุดทะราดเหยียดกรวด เพลงตกปลัก
(อีเก้งตกปลัก)เพลงตกตลิ่ง เพลงตุ๊กแกตีนปุก เพลงถอยหลังลงคลอง (ถอยหลังเข้าคลอง) เพลงนมยานกระทกแป้ง
เพลงนารีชื่นชม เพลงบัวโรย เพลงบัวลอย

            เพลงใบไม้ร่วง (ใบไผ่ร่วง) เพลงปลักใหญ่ เพลงพญาเดิน เพลงแพะชนกัน เพลงแม่หม้ายนมยาน
เพลงรักซ้อน เพลงรักแท้ เพลงรักเร่ (สาวน้อยประแป้ง เพลงรำ) เพลงรักลา เพลงลมพัดชายเขา เพลงเวียนเทียน
เพลงเวียนโบสถ์ เพลงสาลิกาลืมดง เพลงไม้สาม เพลงสาวน้อยประแป้ง เพลงหิ่งห้อยชมสวน

โอกาสที่ใช้บรรเลงดนตรีมังคละ

            การบรรเลงดนตรีมังคละ ใช้ในโอกาส ดังนี้ แห่พระ แห่นาค ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน
งานประเพณีสงกรานต์ ลอยกระทง ทำ บุญกลางนา แห่แม่โพสพบรรเลงประกอบการแสดงต่างๆ งานแห่ศพ เป็นต้น

ตัวอย่างโน้ตเพลงดนตรีมังคละ

  • 1. เพลงไม้หนึ่ง

               /---ป๊ะ /- เท่ง -ป๊ะ/

  • 2. เพลงไม้สอง

              /---ปะ/---เท่ง/---ปะ/---เท่ง/---ปะ/

ขั้นตอนการบรรเลง

  • 1. ไหว้ครู
  • 2. บรรเลงเพลงไม้สี่ (นักดนตรีมังคละถือว่าเป็นเพลงครู)
  • 3. บรรเลงเพลงตามความถนัดไปเรื่อย ๆ
  • 4. จบการบรรเลงด้วยเพลงไม้สี่ เพื่อเป็นสิริมงคล

วิธีการบรรเลง

แต่ละเพลงมี ลักษณะเฉพาะ ดังนี้

  • 1. เริ่มบรรเลงขึ้นต้นด้วยการตีรัว กลองมังคละ
  • 2. ปี่ เป่าทำนองรัวโหนเสียงไปกับกลองมังคละ
  • 3. กลองยืนตีนำขึ้นเพลงเป็นไม้ กลองเพื่อบอกให้นักดนตรีในวงตีตามในเพลงนั้นๆ
  • 4. เครื่องดนตรีอื่นๆ จึงตีตามพร้อมกันทั้งวง
  • 5. ลงจบด้วยการตีรัวกลองมังคละ พร้อมทั้งปี่เป่ารัวเพื่อเป็นสัญญาณในการลง จบเพลงในจังหวะสุดท้ายอย่างพร้อมเพรียงกัน


ภาพกลองมังคละ

•  กรับ

          กรับ เป็น เครื่องดนตรีไทย ชนิดหนึ่ง ซึ่งกรับนั้นมีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ กรับคู่ กรับพวง และ กรับเสภา

ประเภทของกรับ

          กรับคู่ ทำด้วย ไม้ไผ่ ผ่าซีก เหลาให้เรียบและเกลี้ยงอย่าให้มีเสี้ยน มีรูปร่างแบนตามซีกไม้ไผ่
หนาตามขนาดของเนื้อไม้ยาวประมาณ 40 ซม ทำเป็น 2 อันหรือเป็นคู่ ใช้ตีให้ผิวกระทบกันทางด้านแบน
เกิดเป็นเสียง กรับ

          กรับพวง เป็นกรับชนิดหนึ่งตอนกลางทำด้วยไม้บางๆหรือแผ่น ทองเหลือง หรือ งา หลายๆอัน
และทำไม้แก่น 2 อันเจาะรูตอนหัวร้อยเชือกประกบไว้ 2 ข้างเหมือนด้ามพัด
เวลาตีใช้มือหนึ่งถือตรงหัวทางเชือกร้อย แล้วฟาดลงไปบนอีกฝ่ามือหนึ่ง เกิดเป็นเสียงกรับขึ้นหลายเสียง
จึงเรียกว่ากรับพวงใช้เป็นอานัตสัญญาณ เช่นในการเสด็จออกในพระราชพิธีของพระเจ้าแผ่นดิน
เจ้าพนักงานจะ รัวกรับ และใช้กรับพวงตีเป็นจังหวะ ในการขับร้อง เพลงเรือ ดอกสร้อย
และใช้บรรเลงขับร้องในการแสดง นาฏกรรมด้วย

          กรับเสภา ทำด้วยไม้แก่น เช่น ไม้ชิงชัน ยาวประมาณ 20 ซม หนาประมาณ 5 ซม เหลาเป็นรูป 4
เหลี่ยมแต่ลบเหลี่ยม ออกเพื่อมิให้บาดมือและให้สามารถกลิ้งตัวของมันเองกลอก กระทบกันได้โดยสะดวก
ใช้บรรเลงประกอบใน การขับเสภา เวลาบรรเลงผู้ขับเสภาจะใช้กรับเสภา 2 คู่ รวม 4 อัน
ถือเรียงกันไว้บนฝ่ามือของตนข้างละคู่ กล่าวขับเสภาไปพลาง มือทั้ง 2 ข้างก็ขยับกรับแต่ละข้าง
ให้กลอกกระทบกันเข้าจังหวะ กับเสียงขับเสภา จึงเรียกกรับชนิดนี้ว่า กรับเสภา

   
กรับพวงและกรับเสภา

•  ขิม

          ขิม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำอธิบายไว้ว่า "เครื่องดนตรีจีนชนิดหนึ่ง
รูปคล้ายพระจันทร์ครึ่งซีกใช้ตี" ขิมถูกนำเข้ามาในประเทศไทยในสมัย รัชกาลที่ 4
โดยชาวจีนนำมาบรรเลงรวมอยู่ในวงเครื่องสายจีน และประกอบการแสดง งิ้ว บ้าง บรรเลงในงานเทศกาล
และงานรื่นเริงต่างๆบ้าง

             คำว่า ขิม มาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน ซึ่งมาจากอักษรจีน ? ซึ่งในภาษาจีนกลางอ่านว่า ฉิน

             นักดนตรีไทยนำขิมมาบรรเลงในสมัยต้น รัชกาลที่ 6 โดยแก้ไขบางอย่าง
คือเปลี่ยนสายลวดทองเหลืองให้มีขนาดโตขึ้น เทียบเสียงเรียงลำดับ ไปตลอดจน ถึงสายต่ำสุด
เสียงคู่แปดมือซ้ายกับมือขวามีระดับเกือบตรงกัน เปลี่ยนไม้ตีให้ใหญ่และก้านแข็งขิ้น หย่องที่หนุนสาย
มีความหนา กว่าของเดิมเพื่อให้เกิดความสมดุล และมีความประสงค์ให้เสียงดังมากขึ้น
และไม่ให้เสียงที่ออกมาแกร่งกร้าวเกินไปให้ทาบสักหลาดหรือหนังตรงปลายไม้ตี ส่วนที่กระทบกับสาย
ทำให้เสียงเกิดความนุ่มนวล และได้รับความนิยม บรรเลงร่วมอยู่ในวงเครื่องสายผสมจนถึงปัจจุบัน

             เพลงที่นิยมบรรเลงกันมากคือ เพลงขิมเล็ก และเพลงขิมใหญ่ ซึ่งเป็นเพลงสำเนียงจีน
ที่เกิดขึ้นในราวปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 4 โดย พระประดิษฐ์ไพเราะ ได้จำทำนองการตีขิมของคนจีน
แล้วมาแต่งเป็นเพลงในอัตรา 2 ชั้นได้ 2 เพลง ตั้งชื่อว่า เพลงขิมเล็ก และเพลงขิมใหญ่ สำหรับเพลงขิมเล็ก
พระประดิษฐ์ไพเราะได้แต่งขยายเป็นอัตรา 3 ชั้น ส่วนเพลงขิมใหญ่ ครูช้อย สุนทรวาทิน ได้แต่งขึ้นเป็น
อัตรา 3 ชั้น เช่นกัน และทั้ง 2 เพลงนี้ ครูมนตรี ตราโมท ได้แต่งตัดลงเป็นอัตราชั้นเดียว จนครบเป็น เพลงเถา
เมื่อประมาณปี พุทธศักราช 2478 และได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันนี้


ภาพขิม

•  ฆ้องมอญ

            ฆ้องมอญ เป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับอิทธิพลมาจาก มอญ มีลักษณะตั้งโค้งขึ้นไป
ไม่ตั้งราบกับพื้นแบบฆ้องไทย วงฆ้องทำจากไม้แกะสลักปิดทองอย่างสวยงาม
ทางโค้งด้านซ้ายของผู้ตีแกะเป็นรูปต่างๆตามต้องการ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมรูปเทวดา
ทางโค้งด้านขวาทำเป็นรูปปลายหาง มีเท้ารองตรงกลางเหมือน ระนาดเอก ฆ้องมอญมีลูกฆ้อง 15 ลูก
แต่ฆ้องมอญจะไม่เรียงเสียงเหมือนฆ้องไทย ในบางช่วงมีการข้ามเสียง เรียกเสียงที่ข้ามว่า"หลุม"

               ฆ้องมอญทำหน้าที่เดินทำนองเพลงเช่นเดียวกับ ฆ้องวงใหญ่ ของไทย ฆ้องมอญมี 2 ขนาด
เหมือนกับฆ้องไทยคือ ฆ้องมอญใหญ่และฆ้องมอญเล็ก ฆ้องมอญใช้เล่นใน วงปี่พาทย์มอญ


ภาพฆ้อมมอญ

•  ฆ้องวงเล็ก

             ฆ้องวงเล็ก เป็นเครื่องดนตรีไทยสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 มีลักษณะเหมือนกับ ฆ้องวงใหญ่
แต่ลูกฆ้องมีขนาดเล็กกว่า มีลูกฆ้อง 18 ลูก บรรเลงทำนองคล้าย ระนาดเอก แต่ตีเก็บถี่กว่าระนาดเอก

                ฆ้องวงเล็กใช้ วงปี่พาทย์ไม้แข็ง วงปี่พาทย์ไม้นวม วงปี่พาทย์นางหงส์ และ วงมโหรี


ภาพฆ้องวงเล็ก

•  ฆ้องวงใหญ่

          ฆ้องวงใหญ่ เป็นเครื่องดนตรีที่วิวัฒนาการมาจากฆ้องรางของอินโดนีเซีย สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัย
สุโขทัย ส่วนประกอบของฆ้องวงใหญ่ประกอบด้วยลูกฆ้องและวงฆ้อง ลูกฆ้องมี 16 ลูกทำจาก ทองเหลือง
เรียงจากลูกเล็กด้านขวา วงฆ้องสูงประมาณ 24 เซนติเมตร ใช้หวายโป่งทำเป็นราง
ให้หวายเส้นนอกกับเส้นในห่างกัน 14-17 เซนติเมตร ใช้หวาย 4 อัน ด้านล่าง 2 อันขดเป็นวงขนานกัน
เว้นที่ไว้ให้นักดนตรีเข้าไปบรรเลง

             ฆ้องวงใหญ่เป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญที่สุด เพราะคนที่จะเล่นดนตรีใน วงปี่พาทย์
ต้องมาเรียนฆ้องวงใหญ่ก่อน ฆ้องวงใหญ่ทำหน้าที่เดินทำนองหลัก ซึ่งถือเป็นแม่บทของเพลง

             ฆ้องวงใหญ่ใช้เล่นใน วงปี่พาทย์ วงปี่พาทย์นางหงส์ และ วงมโหรี


ภาพฆ้องวงใหญ่

 

•  ฉาบ

             ฉาบ ( อังกฤษ : cymbal ) เป็น เครื่องดนตรี ประเภท เพอร์คัชชัน มีลักษณะเป็นแผ่นโลหะบางๆ รูปร่างคล้ายจาน โดยส่วนมากจะเป็นเครื่องดนตรีไม่มีระดับเสียง

                ฉาบเป็นเครื่องดนตรีประเภทตี ทำด้วยโลหะคล้าย ฉิ่ง แต่หล่อให้บางกว่า ฉาบมี 2 ชนิดคือ ฉาบเล็ก
และ ฉาบใหญ่ ฉาบเล็กมีขนาด ที่วัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 –14 ซม ส่วนฉาบใหญ่มีขนาดที่วัดผ่าน
ศูนย์กลางประมาณ 24 –26 ซม เวลาบรรเลงใช้ 2 ฝามาตีกระทบกันให้เกิดเสียงตามจังหวะ
เมื่อฉาบทั้งสองข้างกระทบกันขณะตีประกบกันก็ จะเกิดเสียง ฉาบ แต่ถ้าตีแล้วเปิดเสียงก็จะได้ยินเป็น
แฉ่ง แฉ่ง แฉ่ง
เป็นต้น


ภาพฉาบเล็ก และ ฉาบใหญ่

•  ฉิ่ง

            ฉิ่ง เป็น เครื่องดนตรีไทย ประเภทตี ทำด้วย ทองเหลือง หล่อหนา ปากผายกลม 1 ชุด มี 2 ฝา
ฉิ่งมี 2 ชนิดคือ ฉิ่งสำหรับวงปี่พาทย์ และ ฉิ่งที่ใช้สำหรับวงเครื่องสายและวงมโหรี ฉิ่งสำหรับ วงปี่พาทย์
มีขนาดที่วัดฝ่านศูนย์กลาง จากขอบข้างหนึ่งไปสุดขอบอีกข้างหนึ่ง กว้างประมาณ 6 – 6.5 ซม
เจาะรูตรงกลางสำหรับร้อยเชือก เพื่อให้จับสะดวกขณะตี ส่วนฉิ่งสำหรับ วงเครื่องสาย และ วงมโหรี นั้น
มีขนาดเล็กกว่า วัดผ่านศูนย์กลางได้ขนาดประมาณ 5.5 ซม

              เนื่องจากการตีฉิ่ง ต้องเอาขอบของฝาข้างหนึ่งกระทบกับอีกฝากหนึ่ง แล้วยกขึ้น
ก็จะมีเสียงดังกังวานยาวดัง ฉิ่ง แต่ถ้าเอาทั้ง 2 ฝานั้นกระทบและประกบกันไว้ จะได้ยินเสียงดังสั้นๆดัง ฉับ
ดังนั้นการเรียกชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า ฉิ่ง ก็เพราะเรียกตามเสียงที่เกิดขึ้นนั่นเอง


ภาพฉิ่ง

•  ตะโพน

            ตะโพน เป็น เครื่องดนตรี ที่ขึงด้วยหนัง ตัวตะโพนทำด้วย ไม้สัก หรือ ไม้ขนุน เรียกว่า หุ่น
ขุดแต่งให้เป็นโพรงภายใน ขึ้นหนัง 2 หน้า ดึงด้วยสายหนังโยงเร่งเสียงเรียกว่า หนังเรียด
หน้าใหญ่มีความกว้างประมาณ 25 ซม เรียกว่า หน้าเท่ง ติดหน้าด้วยข้าวสุกบดผสมกับขี้เถ้าเพื่อถ่วงเสียง
อีกหน้าหนึ่งเล็กกว่ามีขนาดประมาณ 22 ซม เรียกว่า หน้ามัด ตัวกลองยาวประมาณ 48 ซม รอบ ๆ
ขอบหนังที่ขึ้นหน้า ถักด้วยหนังที่ตีเกลียวเป็นเส้นเล็กๆ เรียกว่า ไส้ละมาน
แล้วจึงเอาหนังเรียดร้อยในช่วงของไส้ละมานทั้งสองข้าง โยงเรียงไปโดยรอบจนมองไม่เห็นไม้หุ่น
มีหนังพันตรงกลางเรียกว่า รัดอก ข้างบนรัดอกทำเป็นหูหิ้วและมีเท้ารองให้ ตัวตะโพนวางนอนอยู่บนเท้า
ใช้ฝ่ามือซ้ายขวาตีได้ทั้งสองหน้า ใช้สำหรับบรรเลงผสมอยู่ใน วงปี่พาทย์ ทำหน้าที่กำกับจังหวะหน้าทับต่าง ๆ

            ตะโพนนี้ ถือเป็นบรมครูทางดุริยางคศิลป์ นับว่าพระประโคนธรรพ เป็นครูตะโพน เมื่อจะเริ่มการบรรเลง
จะต้องนำดอกไม้ธูปเทียน บูชาตะโพนก่อนทุกครั้ง และถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมา
เหตุที่ต้องกราบใหว้บูชาก็เพราะ ตะโพนเป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงร่วมกับ สังข์ บัณเฑาะว์ และ มโหระทึก
ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประจำองค์ของเทพเจ้า และสมมุติเทพ ดังนี้คือ สังข์ประจำพระองค์พระนารายณ์ และพระอินทร์
บัณเฑาะว์ ประจำองค์พระอิศวร มโหระทึก เป็นเครื่องดนตรีบรรเลงประกอบพระอิศริยยศองค์พระมหากษัตริย์
ซึ่งถือเป็นสมมุติเทพส่วนตะโพนนั้นเป็นกลองที่พระคเณศได้เป็นผู้ตีเป็นคนแรก
ดังนั้น ตะโพนเมื่อนำมาร่วมบรรเลงในวงปี่พาทย์ จึงถือเป็นบรมครู และทำหน้าที่กำกับหน้าทับต่างๆทั้งหมด


ภาพตะโพน

•  โทน - รำมะนา

            โทน เป็นชื่อของเครื่องหนัง ที่ขึงหนังหน้าเดียว มีสายโยงเร่งเสียงจากขอบหนังถึงคอ
มีหางยื่นออกไปและบานปลาย มีชื่อเรียกคู่กันว่า โทนทับ โดยลักษณะรูปร่างนั้น
โทนมีชื่อเรียกกันได้ตามรูปร่างที่ปรากฏ 2 ชนิดคือ โทนชาตรี และ โทนมโหรี

              โทนชาตรีนั้น ตัวโทนทำด้วยไม้ ขนุน ไม้สัก หรือ ไม้กะท้อน มีขนาดปากกว้าง 17 ซม
ยาวประมาณ 34 ซม มีสายโยงเร่งเสียงใช้หนังเรียด ตีด้วยมือข้างหนึ่ง ส่วนอีกมือหนึ่งคอยปิดเปิด
ปลายหางที่เป็นปากลำโพง ช่วยให้เกิดเสียงต่างๆ ใช้สำหรับ บรรเลงประกอบการแสดง ละครชาตรี
และ หนังตะลุง และตีประกอบจังหวะใน วงปี่พาทย์ หรือ วงเครื่องสาย หรือ วงมโหรี ที่เล่นเพลงภาษาเขมร
หรือ ตะลุง

               ส่วนโทนมโหรีนั้น ตัวโทนทำด้วยดินเผา ด้านที่ขึงหนังโตกว่า โทนชาตรี
ขนาดหน้ากว้างประะมาณ 22 ซม ยาวประมาณ 38 ซม สายโยงเร่งเสียงใช้ หวาย ผ่าเหลาเป็นเส้นเล็ก
หรือใช้ไหมฟั่นเป็นเกลียว ขึ้นหนังด้วยหนังลูก วัว หนัง แพะ หนัง งูเหลือม หรือหนัง งูงวงช้าง
ใช้สำหรับบรรเลงคู่กับ รำมะนา โดยตีขัดสอดสลับกัน ตามจังหวะหน้าทับ

             รำมะนา เป็น กลอง ที่ขึงหนังหน้าเดียว หน้ากลองที่ขึงหนังผายออก ตัวกลองสั้น
รูปร่างคล้ายชามกะละมัง มีอยู่ 2 ชนิด คือ "รำมะนามโหรี" และ "รำมะนาลำตัด"

              รำมะนามโหรี มีขนาดเล็ก หน้ากว้างประมาณ 26 ซม ตัวรำมะนายาว ประมาณ 7 ซม
หนังที่ขึ้นหน้าตรึงด้วยหมุดโดยรอบ จะเร่งหรือลดเสียงให้สูงต่ำไม่ได้ แต่มีเชือกเส้นหนึ่งที่เรียกว่า สนับ
สำหรับหนุนข้างในโดยรอบ ช่วยทำให้เสียงสูงได้ บรรเลงใช้ตีด้วยฝ่ามือคู่กับ โทนมโหรี

                  ส่วน รำมะนาลำตัด มีขนาดใหญ่ หน้ากว้างประมาณ 48 ซม. ตัวรำมะนายาวประมาณ 13 ซม.
ขึ้นหนังหน้าเดียว โดยใช้เส้น หวาย ผ่าซีกโยงระหว่างขอบปน้ากับวงเหล็กซึ่งรองก้นใช้เป็นขอบ ของตัวรำมะนา
และใช้ลิ่มหลายๆ อันตอกเร่งเสียงระหว่างวงเหล็กกับก้นรำมะนา รำมะนาชนิดนี้เข้าใจว่าได้แบบอย่างมาจาก ชวา
และเข้ามาแพร่หลายในสมัย รัชกาลที่ 5 ใช้ประกอบการเล่น ลำตัด และ ลิเกลำตัด ในการประกอบการเล่นลำตัดนั้นจะใช้รำมะนากี่ลูกก็ได้ โดยให้คนตีนั่งล้อมวงและเป็นลูกคู่ร้องไปด้วย

   
ภาพโทนชาตรี (ซ้าย) โทนมะโหรี - รำมะนา (ขวา)

 

•  โปงลาง

          โปงลาง เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเคาะหรือเครื่องตี มีลักษณะคล้าย ระนาด แต่แขวนในแนวดิ่ง
เป็นที่นิยมใน ภาคอีสาน บางท้องถิ่นอาจเรียกว่า หมากกลิ้งกล่อม หมากขอลอ หรือ เกราะลอ
(ผู้เฒ่าผู้แก่ในถิ่นดงมูลอำเภอหนองกุงศรีเรียก "หมากเต๋อเติ่น") เป็นเครื่องดนตรีประจำจังหวัด กาฬสินธุ์

ผู้พัฒนา

            นายเปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) ประจำปี พ.ศ. 2529
ชาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ทำการพัฒนาโปงลางจนมีลักษณะเช่นในปัจจุบัน โดยได้พัฒนาโปงลางขึ้นจากเกราะลอ ซึ่งใช้เคาะส่งสัญญาณในท้องนา

พระมหากรุณาธิคุณ

              เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2533 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงโปงลางที่ วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งสร้างความปลื้มปิติ
แก่พสกนิกรชาวกาฬสินธุ์เป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสเฝ้าชมบารมี
ขณะที่ทรงโปงลางอันเป็นสัญลักษณ์ของชาวกาฬสินธุ์

            โปงลาง นิยมทำจากไม้มะหาด หรือไม้หมากเหลื้อม เพราะเป็นไม้ที่มีความอยู่ตัวมากกว่าไม้อื่นๆ
วิธีการทำเอาไม้ที่แห้งแล้ว มาถากเหลาให้ได้ขนาดลดหลั่นกันตามเสียง ที่ต้องการในระบบ 5 เสียง
โปงลาง 1 ชุดจะมีจำนวนประมาณ 12 ลูก ใช้เชือกร้อยรวมกันเป็นผืน เวลาตีต้องนำปลายเชือกด้านหนึ่ง
ไปผูกแขวนไว้กับเสาในลักษณะห้อยลงมา ส่วนปลายเชือกด้านล่างจะผูกไว้กับหลัก หรือเอวของผู้ตี
วิธีการเทียบเสียง โปงลาง ทำโดยการเหลาไม้ให้ได้ขนาด และเสียงตามต้องการ
ยิ่งเหลาให้ไม้เล็กลงเท่าใดเสียงก็จะยิ่งสูงขึ้น ในสมัยอดีตโปงลางนั้นมีด้วยกัน 5เสียง คือ โด เร มี ซอล ลา
แต่ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาโดย นาย เปลื้อง ฉายรัศมี โปงลาง ที่ได้มาตรฐานจะต้องมี 6 เสียง 13 ลูก
คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา (ต่อมามีเสียง ที ด้วย) ซึ่งแตกต่างจาก ระนาด ซึ่งมีเจ็ดเสียง
และมีการปรับแต่งเทียบเสียงด้วยการใช้ ตะกั่วผสมขี้ผึ้ง ถ่วงใต้ผืนระนาด เพื่อให้ได้ระดับเสียงตามที่ต้องการ

             แต่เดิมเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ยังไม่มีการผสมวงกันแต่อย่างใดใช้เล่นเป็นเครื่องเดี่ยว
ตามความถนัดของนักดนตรีที่มีอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ โอกาสที่จะมาร่วมเล่นด้วยกันได้ก็ต่อเมื่อมีงานบุญหรืองานประเพณีต่างๆ
เช่น บุญเผวด จะมีการแห่กันหลอนของแต่ละคุ้มหรือแต่ละหมู่บ้านมาที่วัดคุ้มไหนหรือหมู่บ้านไหนมีนักดนตรีอะไร
ก็จะใช้บรรเลงและแห่ต้นกันหลอนมาที่วัด พอมาถึงวัดก็จะมีการผสมผสานกันของแต่ละเครื่องมือ เช่น พิณ แคน ซอ กลองเป็นต้น
หลังจากผสมผสานกันโดยไม่ได้ตั้งใจแล้ว ก็จะแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเชื่อมเข้าหากันโดยเฉพาะนักดนตรี
จะไปมาหาสู่กันร่วมกันเล่น ร่วมกันสร้าง ในที่สุดก็กลายเป็นวงดนตรีและมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เช่น วงโปงลาง ปี พ.ศ.2505
หลังจากอาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจและศึกษาพัฒนา การตีและการทำเกราะลอจนเปลี่ยนชื่อมาเป็นโปงลาง
และได้รับความนิยมจากชาวบ้านโดยทั่วไป จากนั้นอาจารย์เปลื้องได้เกิดแนวความคิด ในการนำเอาเครื่องดนตรีอีสานชนิดอื่นๆ
มาบรรเลงรวมกันกับโปงลาง จึงได้รวบรวมสมัครพรรพวกที่ชอบเล่นดนตรี มาบรรเลงรวมกัน ปรากฏว่าเป็นที่แตกตื่นของชาวบ้าน
พอตกเย็นก็จะมีคนมามุงดูขอให้บรรเลงให้ฟัง แต่ละวันหมดยาเส้น ไปหลายหีบ ทำให้ได้รับความนิยม
และเป็นที่สนใจของชาวบ้านเป็นอย่างมาก จนมีผู้ว่าจ้างไปบรรเลงเป็นครั้งแรกเนื่องในงานอุปสมบท
ณ บ้านปอแดง ตำบลอุ่นเม่า อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ในราคา 40 บาท เป็นที่ชื่นชอบของของผู้ที่พบเห็น
และได้ฟังจากงานอุปสมบทของบ้านปอแดง และได้รับการติดต่อให้ไปแสดงอีกในหลายๆ ที่
               ปี พ.ศ.2511 อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี ได้นำคณะโปงลางไปร่วมแสดงเพื่อเฉลิมพระเกียรติ
เนื่องในวันเฉลิมพรรษา 5 ธันวามหาราช จึงมีโอกาสที่ทำให้ได้พบกับนายประชุม อิทรตุล ป่าไม้อำเภอยางตลาด
ซึ่งนายประชุมได้นำวงดนตรีสากลมาร่วมบรรเลงประกอบลีลาศ มหรสพที่แสดงในคืนนั้นมีคณะหมอลำหมู่
ซึ่งหัวหน้าหมอลำเป็นเพื่อนอาจารย์เปลื้อง ทั้งสองจึงไปขอยืมกลองชุดสากล เพื่อนำไปเล่นเข้ากับหมอลำ
นายประชุมจึงไม่ขัดข้องแต่ต้องให้วงลีลาศเลิกก่อน หมอลำก็ทำการแสดงไปก่อนได้ครึ่งคืนก็ต้องพักทานข้าวตอนดึก
จึงทำให้เกิดช่องว่างของเวทีผู้คนก็ยังไม่กลับยังรอดูหมอลำต่อ อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี จึงได้นำเอาโปงลางที่ตนนำมา
ขึ้นแขวนบนต้นเสาของเวที ในขณะนั้นหัวหน้าหมอลำก็ยังไม่รู้จัก และไม่เคยเห็น โปงลางมาก่อน
ทุกคนก็เกิดความสงสัยว่าอาจารย์เปลื้องนำอะไรขึ้นมาแขวนกับต้นเสาบนเวที แต่พอคณะโปงลางบรรเลงขึ้น
ทุกคนต่างตกตะลึง และสงสัยว่าสิ่งที่กำลังตีอยู่ในขณะนั้นคืออะไร หลังจากหมอลำกินข้าวเสร็จผู้ชมก็ยังไม่ยอมให้เลิกเล่น
ขอให้เล่นต่อแทนหมอลำไปเลยก็ได้ จากการแสดงในครั้งนั้นนี่เอง นายประชุม ได้ชวนอาจารย์เปลื้อง
ไปอยู่ด้วยโดยฝากให้เข้าทำงานที่โรงเลื่อยยางตลาด นายประชุม อินทรตุล จึงได้สนับสนุนและตั้งวงโปงลางขึ้น
ชื่อว่าวงโปงลางกาฬสินธุ์ โดยมอบหมายให้อาจารย์เปลื้อง เป็นหัวหน้าวง จากผลงานการแสดง
ที่หลังจากตั้งวงแล้วไม่นาน นายบุรี พรหมลักขโนผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์
ได้ติดต่อให้นำโปงลางไปแสดงออกรายการทีวีช่อง 5 จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นการเผยแพร่
และท่านได้แนะนำว่าน่าจะมีชุดฟ้อนรำไปด้วยจะน่าดูยิ่งขึ้น นายประชุม อิทรตุล จึงมอบหมายให้
คุณเกียง บ้านสูงเนิน คุณลดาวัลย์ สิงห์เรือง (ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปะกาฬสินธุ์ในขณะนั้น)
และภรรยาของนายประชุมเองฝึกชุดฟ้อน ชุดแรก คือ รำซวยมือ ชุดที่สอง คือ ชุดเซิ้งภูไท ชุดเซิ้งสวิง
ชุดบายศรีสู่ขวัญ และไทภูเขา ต่อมาคณะโปงลางกาฬสินธุ์ได้มีโอกาสไปแสดง ณ วังสวนจิตลดา วังละโว้
วังสวนผักกาด วังสราญรมย์ และแสดงเผยแพร่ในมหาลัยต่างๆ


ภาพโปงลาง

•  ระนาดทุ้ม

            ระนาดทุ้ม เป็น เครื่องดนตรี ที่สร้างขึ้นมาใน รัชกาลที่ 3 แห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการสร้าง
เลียนแบบ ระนาดเอก ใช้ไม้ชนิดเดียว กันกับระนาดเอก ลูกระนาดทุ้มมีจำนวน 17 หรือ 18 ลูก
ลูกต้นยาวประมาณ 42 ซม กว้าง 6 ซม และลดหลั่นลงมาจนถึงลูกยอด ที่มีขนาดยาว 34 ซม กว้าง 5 ซม
รางระนาดทุ้มนั้นประดิษฐ์ให้มีรูปร่างคล้ายหีบไม้ แต่เว้าตรงกลางให้โค้ง โขนปิดหัวท้ายเพื่อ
เป็นที่แขวนผืนระนาดนั้น ถ้าหากวัดจากโขนด้านหนึ่งไปยังโขนอีกด้านหนึ่ง
รางระนาดทุ้มจะมีขนาดยาวประมาณ 124 ซม ปาก รางกว้างประมาณ 22 ซม มีเท้าเตี้ย รองไว้ 4 มุมราง

               หน้าที่ในวงของระนาดทุ้มนั้น ทำหน้าที่เดินทำนองรอง ในทางของตนเองซึ่งจะมีจังหวะโยน ล้อ
ขัด ที่ทำให้เกิดความไพเราะและเติมเต็มช่องว่างของเสียง อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของระนาดทุ้ม


ภาพระนาดทุ้ม

•  ระนาดทุ้มเหล็ก

             ระนาดทุ้มเหล็ก เป็น เครื่องดนตรี ที่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน รัชกาลที่ 4
มีพระราชดำริให้สร้างขึ้น ลูกระนาดทำอย่างเดียวกับ ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็กมีจำนวน 16 หรือ 17 ลูก
ลูกต้นยาวประมาณ 35 ซม กว้างประมาณ 6 ซมและลดหลั่นลงไปจนถึงลูกยอดซึ่งยาวประมาณ 29 ซม
กว้างประมาณ 5.5 ซม ตัวรางระนาดยาวประมาณ 1 เมตร ปากราง กว้างประมาณ 20 ซม
มีชานยื่นออกไปสองข้างราง ถ้านับส่วนกว้างรวมทั้งชานทั้งสองข้างด้วย รางระนาดทุ้มเหล็กจะกว้าง
ประมาณ 36 ซม มีเท้ารองติดลูกล้อ 4 เท้า เพื่อให้เคลื่อนที่ไปมาได้สะดวก ตัวรางสูงจากพื้นถึงขอบบน
ประมาณ 26 ซมระนาด ทุกชนิดที่กล่าวมานั้น จะใช้ไม้ตี 2 อัน

             ระนาดทุ้มเหล็กทำหน้าที่เดินทำนองคล้าย ฆ้องวงใหญ่ เพียงแต่เดินทำนองห่างกว่า


ภาพระนาดทุ้มเหล็ก

•  ระนาดเอก

           ระนาดเอก เป็นเครื่องตีชนิดหนึ่ง ที่วิวัฒนาการมาจาก กรับ แต่เดิมคงใช้กรับสองอันตีเป็นจังหวะ
ต่อมาก็เกิดความคิดว่า ถ้าเอากรับหลาย ๆ อันวางเรียงราดลงไป แล้วแก้ไขประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน
แล้วทำรางรองอุ้มเสียง และใช้เชือกร้อยไม้กรับขนาดต่าง ๆ กันนั้นให้ติดกัน และขึงไว้บนรางใช้ไม้ตีให้เกิดเสียง
นำ ตะกั่ว ผสมกับ ขี้ผึ้ง มาถ่วงเสียงโดยนำมาติดหัวท้ายของไม้กรับนั้น ให้เกิดเสียงไพเราะยิ่งขึ้น
เรียกไม้กรับที่ประดิษฐ์เป็นขนาดต่างๆกันนั้นว่า ลูกระนาด เรียกลูกระนาดที่ผูกติดกันเป็นแผ่นเดียวกันว่า ผืน
ระนาดเอกใช้ในงานมงคล เป็นเครื่องดนตรีเป็นมงคลในบ้าน บรรเลงใน วงปี่พาทย์ และ วงมโหรี
โดยทำหน้าที่เป็นผู้นำวง

ส่วนประกอบของระนาดเอก มี 3 ส่วน ได้แก่ ผืน ราง และไม้ตี

             ผืน ประกอบด้วยลูกระนาด ซึ่งทำด้วย ไม้ชิงชัน หรือไม้แก่น เช่น ไม้ไผ่บง ไม้มะหาด ไม้พะยูง ก็ได้
ผืนระนาดไม้เนื้อแข็ง เสียงจะแกร่ง และดังคมชัดเหมาะสำหรับบรรเลงในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง
ส่วนผืนระนาดที่ทำจากไม้ไผ่จะให้เสียงที่นุ่มนวล เหมาะสำหรับวงปี่พาทย์ไม้นวมและวงปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย
ลูกระนาดมีทั้งหมด 21-22 ลูก โดยลูกที่ 22 มีชื่อเรียกว่า ลูกหลีก หรือ ลูกหลิบ ที่ท้องของลูกระนาดจะคว้าน
และใช้ขี้ผึ้งผสมกับตะกั่วถ่วงเพื่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างเสียง โดยเสียงจากผืนระนาดขึ้นอยู่กับส่วนประกอบ
3 ส่วนด้วยกันคือ
             ส่วนแรก ขึ้นอยู่กับขนาดใหญ่-เล็ก ของไม้ที่ใช้ทำ
             ส่วนที่สอง ขึ้นอยู่กับการคว้านท้องไม้ลูกระนาดว่ามาก-น้อยเพียงใด
             ส่วนที่สามขึ้นกับปริมาณมาก-น้อยของตะกั่วที่ถ่วงใต้ลูกระนาดแต่ละลูก
ลูกระนาดทั้งหมดจะถูกเจาะรูเพื่อร้อยเชือก และแขวนบนรางระนาด

            ราง เป็นส่วนที่เป็นกล่องเสียงของระนาด ทำให้หน้าที่อุ้มเสียง นิยมทำด้วยไม้สักและทาด้วยน้ำมันขัดเงา
ปัจจุบันการใช้ระนาดที่ทำด้วยไม้และทาด้วยน้ำมันลดความนิยมลง นักดนตรีนิยมใช้รางระนาดที่แกะสลักลวดลายไทยและลงรักปิดทองเพื่อความสวยงาม
บางโอกาส อาจมีการฝังมุก ประกอบงา ซึ่งราคาก็จะสูงตามไปด้วย จากการรณรงค์พิทักษ์สัตว์ป่าที่มีอยู่ทั่วไป
รางประกอบงาจึงไม่ได้รับความนิยม รูปร่างระนาดเอกคล้ายเรือบดแต่โค้งเรียวกว่า
ตรงกลางของส่วนโค้งมีเท้าที่ใช้สำหรับตั้ง เป็นเท้าเดียวคล้ายพานแว่นฟ้า ปลายทั้งสองข้างของส่วนโค้ง
เรียกว่า โขน จะมีขอสำหรับห้อยผืนระนาดข้างละ 2 อัน

             ไม้ระนาด เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้เกิดเสียงโดยตรง มี 2 ชนิด คือ ไม้แข็ง และไม้นวม
ไม้แข็งพันด้วยผ้าอย่างแน่น และชุมด้วยรักจนเกิดความแข็งเวลาตีจะมีเสียงดัง และคมชัด เหมาะกับ
วงปี่พาทย์ไม้แข็ง วงปี่พาทย์มอญ และ วงปี่พาทย์นางหงส์ ส่วนไม้นวม เป็นไม้ตีระนาดที่พันจากผ้า
และใช้ด้ายรัดหลาย ๆ รอบเพื่อความสวยงาม มีเสียงนุ่มนวม บรรเลงใน วงปี่พาทย์ไม้นวม วงมโหรี
วงปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย และ วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์

             ขนาดของระนาดเอก ลูกต้นมีขนาด 39 ซม กว้างราว 5 ซม และหนา 1.5 ซม
มีขนาดลดหลั่นลงไปจนถึงลูกที่ 21 หรือลูกยอดที่มีขนาด 29 ซม เมื่อนำผืนระนาด มาแขวนบนรางแล้ว
หากวัดจากโขนหัวรางข้างหนึ่งไปยังโขนหัวรางอีกข้างหนึ่ง จะมีความยาวประมาณ 120 ซม


ภาพระนาดเอก

•  ระนาดเอกเหล็ก

            ระนาดเอกเหล็ก เป็น เครื่องดนตรี ที่ประดิษฐ์ขึ้นใน รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
แต่เดิมลูกระนาดทำด้วย ทองเหลือง จึงเรียกกันว่า ระนาดทอง ในเวลาต่อมาได้มีการประดิษฐ์ลูกระนาด
ด้วยเหล็ก ระนาดเอกเหล็กมีจำนวน 20 หรือ 21 ลูก โดยวางไว้บนรางที่มีไม้ ระกำ วางพาดไปตามของราง
หากไม่มีไม้ระกำ ก็อาจใช้ผ้าพันไม้แล้วนำมารองลูกระนาดก็ได้ ลูกต้น ของระนาดเอกเหล็กมีขนาด 23.5 ซม
กว้างประมาณ 5 ซม ลดหลั่นขึ้นไปจนถึงลูกยอดที่มีขนาด 19 ซม กว้างประมาณ 4 ซม รางของระนาดเอกเหล็กนั้น
ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีเท้ารองรับไว้ทั้ง 4 ด้านหรืออาจใส่ลูกล้อเพื่อสะดวกในการขนย้ายก็ได้

             ระนาดเอกเหล็กบรรเลงเหมือน ระนาดเอก ทุกประการ เพียงแต่ไม่ได้ทำหน้าที่ผู้นำ


ภาพระนาดเอกเหล็ก

•  อังกะลุง

            อังกะลุง เป็น เครื่องดนตรีไทย ชนิดหนึ่ง ทำจากไม้ เล่นด้วยการเขย่าให้เกิดเสียง
นับเป็นเครีองดนตรีประเภทตี มีที่มาจาก ประเทศอินโดนีเซีย ใน ภาษาอินโดนีเซีย เรียกว่า อังคะลุง
หรือ
อังกลุง (Angklung

              ครูจางวางศร ศิลปบรรเลง (หลวงประดิษฐ์ไพเราะ) เป็นผู้นำอังกะลุงเข้ามาในเมืองไทยครั้งแรก
เมื่อราว พ.ศ. 2451 เมื่อครั้งที่ท่านได้โดยเสด็จ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงพันธุวงศ์วรเดช ขณะเสด็จพระราชดำเนินประพาส ประเทศชวา

             อังกะลุงชวาที่นำเข้ามาครั้งแรกเป็นอังกะลุงชนิดคู่ ไม้ไผ่ 2 กระบอก มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก
ยกเขย่าไม่ได้ ต้องใช้วิธีการบรรเลงแบบชวา คือมือหนึ่งถือไว้ อีกมือหนึ่งไกวให้เกิดเสียง

             อังกะลุงที่นำเข้ามาสมัยนั้น มี 5 เสียง ตามระบบเสียงดนตรีของชวา ทำด้วยไม้ไผ่ทั้งหมด
ทั้งตัวอังกะลุงและราง ถายหลังได้มีการพัฒนาโดยขยายจำนวนไม้ไผ่เป็น 3 กระบอก
และลดขนาดให้เล็กและเบาลงเพิ่มเสียงจนครบ 7 เสียง ในสมัย รัชกาลที่ 6 เชื่อกันว่า มีการพัฒนาการบรรเลง
จากการไกว เป็นการเขย่าแทน นับว่า เป็นต้นแบบของการบรรเลงอังกะลุงในปัจจุบัน

             หลวงประดิษฐ์ไพเราะได้นำวงอังกะลุงจาก วังบูรพาภิรมย์ ไปแสดงครั้งแรกในงานทอดกฐินหลวง
ที่ วัดราชาธิวาส ในสมัยรัชกาลที่ 6

            โดยทั่วไปเครื่องหนึ่งจะมีเสียงเดียว การเล่นอังกะลุงให้เป็นเพลงจึงต้องใช้อังกะลุงหลายเครื่อง
โดยมักจะให้นักดนตรีถืออังกะลุงคนละ 1 - 2 เครื่อง เมื่อต้องการโน้ตเสียงใด
นักดนตรีประจำเสียงนั้นก็จะเขย่าอังกะลุง การเล่นอังกะลุงจึงต้องอาศัยความพร้อมเพรียงเป็นอย่างมาก

            นอกจากอังกะลุงเครื่องละหนึ่งเสียงแล้ว ยังมีการผลิตอังกะลุงที่มีเครื่องหนึ่งมากกว่า 1 เสียงด้วย
เรียกว่า อังกะลุงราว


ภาพอังกะลุง

•  เปิงมาง

             ปิงมางคอก เป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง แต่เดิมเป็นเครื่องดนตรีของชาว มอญ ใช้ตีหยอกล้อกับ
ตะโพนมอญ มีลักษณะเป็นกลองขนาดต่างกัน 7 ลูกผูกเป็นราวในชุดเดียวกัน เรียงจากใหญ่ไปหาเล็ก
ตัวกลองขึงด้วยหนังสองหน้า ขึ้นหน้าด้วยหนังเรียดโยงสายเร่งหนังหน้ากลองเป็นแนวยาวตลอด
เวลาบรรเลงต้องติดข้าวสุกบดผสมขี้เถ้า คอกเปิงมางทำเป็นรั้ว 3 ชิ้นติดต่อกัน มีตะขอแขวนลูกเปิงเป็นระยะ
คอกเป็นรูปเกือบครึ่งวงกลม เปิงมางคอกใช้บรรเลงใน วงปี่พาทย์มอญ

   
ภาพเปิงมาง

 

•  โหม่ง ฆ้อง

             ฆ้อง เป็น เครื่องดนตรี ประเภท เพอร์คัชชัน ทำด้วย โลหะ ที่มีหลายรูปแบบ คำว่าฆ้องนั้นมีที่ว่าจาก
ภาษาชวา ปรากฏการใช้ฆ้องในหลายชาติใน ทวีปเอเชีย เช่น จีน อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย เป็นต้น
ปัจจุบันฆ้องเข้าไปมีส่วนในดนตรีตะวันตกด้วยเช่นกัน

                ฆ้อง เป็น เครื่องดนตรีไทย ประเภทเครื่องตี มีหลายขนาดและประเภท
บางชนิดเป็นเพียงเครื่องตีให้สัญญาณ เช่น ฆ้องกระแต ใช้ตีบอกสัญญาณเข้าเวรยาม, ฆ้องชัย
ใช้ตีบอกสัญญาณในกองทัพสมัยโบราณ เป็นต้น บางท้องถิ่นเรียกว่า โหม่ง

รายชื่อฆ้องในดนตรีไทย

  • ฆ้องวงใหญ่ ใช้ในวงปี่พาทย์ วงมโหรี
  • ฆ้องวงเล็ก ใช้ในวงปี่พาทย์ วงมโหรี
  • ฆ้องมอญ ใช้ใน วงปี่พาทย์มอญ
  • ฆ้องราว ในอดีตใช้บรรเลงประกอบการเล่น"ระเบ็ง"ซึ่งเป็นมหรสพโบราณประแภทหนึ่ง
  • ฆ้องคู่ ใช้ใน วงปี่พาทย์ชาตรี
  • ฆ้องเหม่ง ใช้ใน วงบัวลอย
  • ฆ้องโหม่ง
ฆ้องที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา

             ปัจจุบัน ฆ้องถูกนำไปใช้ร่วมกับพิธีกรรมต่างๆ โดยนิยมซื้อไปถวายวัด เพราะเชื่อกันว่าจะ
ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดัง ปัจจุบัน แหล่งผลิต ฆ้องของประเทศไทย อยู่ที่บ้านทรายมูล ตำบลทรายมูล
อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี มีมากมายหลายขนาด จัดเป็นสินค้าโอทอป ของตำบล โดย ฆ้อง
จะมีโฉลก แบ่ง ตามความเชื่อของชาวอิสาน ดังนี้

  • สิทธิชัยมังคลโชค
  • ตีอวดโลกป่าวเดียวดาย
  • เสียงดังไกลบ่มั่ว
  • เสียงดังทั่วเท่าแผ่นธรณี
  • แสน มเหสีมานั่งเฝ้า
  • เป็นเจ้าแผ่นทองเหลือง
  • แห่ขุนเมืองขึ้นนั่งแท่น
  • แสนขุนแหล่นมาเต้า
  • ตีโอนอ้าวเสพขอนผี
  • นางธรณีตกใจกลัวสะท้าน
  • ตีออกบ้านผามเอาชัย

โฉลกนิยมใช้มือคืบ กำปั้น ทางภาคอีสานใช้กำปั้นเรียงตามโฉลก 11 โฉลก

             ใน วงออร์เคสตรา ฆ้อง หรือบางครั้งเรียกว่า แทมแทม (tam-tam มีที่มาจากภาษาจีน)
มีลักษณะเป็นฆ้องแบบแบน ไม่มีระดับเสียง มีได้หลายขนาด ฆ้องสามารถให้ได้ทั้งเสียงนุ่มลึกลับ
และเสียงที่ดังกร้าว ขึ้นอยู่กับวิธีการตี ตำแหน่งการตีที่ดีที่สุดอยู่ที่บริเวณโดยห่างจากจุดศูนย์กลางเล็กน้อย
ไม้สำหรับตีฆ้องเป็นไม้หัวนุ่ม

  

ภาพโหม่ง ฆ้อง



•  บัณเฑาะว์

             บัณเฑาะว์ เป็น เครื่องดนตรี ประเภท กลอง จาก อินเดีย มีลักษณะหัวและท้ายใหญ่ ตรงกลางคอด
ขนาดประมาณ 15 เซนติเมตร ใช้เชือกผูกกับลูกตุ้ม กลองชนิดนี้ไม่ใช้ตีด้วยไม้ด้วยมือ
แต่ใช้มือถือพลิกข้อมือกลับไปกลับมา ให้ลูกตุ้มที่ปลายเชือกกระทบหนังหน้ากลองทั้งสองด้าน

             ชื่อบัณเฑาะว์ มาจากคำบาลีว่า "ปณวะ" ในอินเดียเรียกว่า "ฑมรุ" ( อักษรเทวนาครี ????; ?amaru)
เป็นเครื่องดนตรีที่พบเห็นในหัตถ์ขวาของ พระศิวะ

             ในประเทศไทย บัณเฑาะว์ใช้เป็นเครื่องให้จังหวะในการบรรเลงประกอบ "ขับไม้" ในงานพระราชพิธี
เช่น ขับกล่อมสมโภชพระมหาเศวตฉัตร สมโภชพระยาช้างเผือกและช้างสำคัญ เรียกว่า "ขับไม้บัณเฑาะว์"
โดยอาจใช้บัณเฑาะว์ลูกเดียว หรือใช้บัณเฑาะว์ 2 ลูก ไกวพร้อมกันทั้งสองมือ


ภาพบัณเฑาะว์

 

กลับขึ้นด้านบน

อ้างอิงจาก http://th.wikipedia.org/

 
เวบไซต์ : สุนทรียภาพแห่งดนตรี เพื่อชีวีเป็นสุข : นี้ จัดทำขึ้นเพื่อการศึกษาเท่านั้น
มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้าหรือธุรกิจใดๆ ทั้งสิ้น หากข้อมูลหรือบทความใดๆ ไม่ถูกต้อง
กรุณาแจ้ง Webmaster เพื่อทำการแก้ไข จักเป็นพระคุณยิ่ง และกรุณาอย่านำข้อมูลในเวบไซต์นี้ไปใช้เพื่อการค้าหรือธุรกิจใดๆ ทั้งสิ้น

Webmaster : นายสันติ เที่ยงผดุง ตำแหน่ง ครู
โรงเรียนบ้านหนองแวงโสกพระ ต.หนองแวงโสกพระ อ.พล จ.ขอนแก่น
E-Mail : santi.t@obec.go.th, hs3ryg@gmail.com, Facebook : http://www.facebook.com/hs3ryg